โครงการศึกษาสำรวจติดตั้งระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ ลุ่มน้ำท่าจีน

โครงการศึกษาสำรวจติดตั้งระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ ลุ่มน้ำท่าจีน

โครงการศึกษาสำรวจติดตั้งระบบตรวจวัด
สภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ ลุ่มน้ำท่าจีน

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงของน้ำที่มีอยู่ทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพระหว่างช่วงเวลาต่างๆ ของปี ทำให้เกิดความไม่สมดุลของการใช้น้ำที่มีอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ.2554 พื้นที่ 65 จังหวัด ซึ่งรวมพื้นที่ของลุ่มน้ำท่าจีน เกิดเหตุการณ์อุทกภัยรุนแรงมีประชาชนเสียชีวิต 815 คน สูญหาย 3 คน ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหากว่า 14,037,556 คน หรือประมาณ 4,213,404 ครัวเรือน โดยคาดว่าความเสียหายด้านการเกษตร อุตสาหกรรมบริการจะส่งผลกระทบให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ ราคาประจำปีลดลง 248,386 ล้านบาทและจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 2.3

อุทกภัยปี พ.ศ.2554 ส่งผลต่อภาคการเกษตรได้รับผลกระทบ 12.11 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 9.77 ล้านไร่ พืชไร่ 1.77 ล้านไร่ และพืชสวนอื่นๆ 0.57 ล้านไร่ สำหรับด้านประมง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย แบ่งออกเป็น บ่อปลา 214,461 ไร่ และบ่อกุ้ง/ปู/หอย 53,556 ไร่นอกจากนั้นด้านปศุสัตว์ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 220,209 ราย โดยสัตว์ได้รับผลกระทบ 29.41 ล้านตัว

ไม่เฉพาะปัญหาด้านอุทกภัย ประเทศไทยยังประสบปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่บางส่วน ตัวอย่างเช่น
ปี พ.ศ.2548 ปัญหาภัยแล้งก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายประมาณ 7,565 ล้านบาท และภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ ทำให้ต้องหยุดการผลิต และสูญเสียรายได้มูลค่าหลายแสนล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมปัญหาคุณภาพน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการอุปโภค-บริโภค
ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

จากปัญหา และผลกระทบที่กล่าวข้างต้น สามารถบรรเทาความรุนแรงลงได้โดยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพน้ำนับเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญลำดับต้นๆ ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ การได้รับข้อมูลปริมาณ และคุณภาพน้ำที่ถูกต้องและรวดเร็วจะนำไปสู่
การจัดการน้ำในการตัดสินใจแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ เป็นการลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ในระดับจังหวัดภูมิภาคและประเทศ

ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา และคุณภาพน้ำ ที่มีความถูกต้อง รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ นำมาใช้เป็นฐานข้อมูล พร้อมทั้งสามารถเชื่อมต่อเป็นลักษณะเครือข่ายเพื่อการวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาของลุ่มน้ำในภาคกลางของประเทศไทย รวมถึงการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆได้อย่างเหมาะสม กรมทรัพยากรน้ำจึงได้จัดทำโครงการศึกษาสำรวจติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 และเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วน ปัจจัยด้านบุคลากรรวมถึงงบประมาณและความครบถ้วนในเชิงพื้นที่จึงได้คัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำที่เสี่ยงต่ออุทกภัยสูง ที่มีโอกาสเกิดปัญหาด้านวิกฤติน้ำอยู่เสมอมาดำเนินงานก่อน รวมถึงการพิจารณาความครบถ้วนสมบูรณ์เชิงพื้นที่ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการโครงการศึกษาสำรวจติดตั้งระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติลุ่มน้ำท่าจีน

ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนในปี พ.ศ.2554 ประสบกับปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ปริมาณน้ำเหนือไหลหลากและระดับน้ำทะเลหนุนช่วงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมทั้งหมด ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน โดยสภาพทั่วไปลุ่มน้ำท่าจีนมีลักษณะดังนี้

ลุ่มน้ำท่าจีน ตั้งอยู่ทางตอนกลางประเทศไทยและอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 13,461.63 ตร.กม. พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอ่างทองและจังหวัดอุทัยธานี ลักษณะลุ่มน้ำวางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ทิศเหนือติดกับลุ่มน้ำสะแกกรัง ทิศใต้ติดกับอ่าวไทย ทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา และทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำแม่กลอง

สภาพทั่วไปของลุ่มน้ำท่าจีน เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำซึ่งเป็นที่ราบเดียวกัน กับที่ราบลุ่มน้อยเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนบนของลุ่มน้ำเป็นที่เชิงเขา แต่มีระดับสูงไม่มากนัก ส่วนตอนกลาง และตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มติดต่อกับที่ราบลุ่มของลุ่มน้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีนแยกออกมาทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และออก
สู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร แม่น้ำท่าจีนมีชื่อเรียกต่างๆ กันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปากแม่น้ำ คือ คลอง
มะขามเฒ่า แม่น้ำสุพรรณบุรี แม่น้ำนครชัยศรี และแม่น้ำท่าจีน

1) พัฒนาระบบตรวจวัดข้อมูลทางไกลแบบอัตโนมัติ (ระบบโทรมาตรอุตุ-อุทกวิทยาและคุณภาพน้ำ)
ทั้งนี้เป็นการตรวจวัดและเก็บรวบรวมข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา และคุณภาพน้ำแบบต่อเนื่องตาม เวลาจริง (Real-Time Data Collection) ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน และสะแกกรัง

2) พัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์ สำหรับประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งปี
(น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย) รวมถึงการเฝ้าระวัง พยากรณ์ และเตือนภัย ในช่วงเกิดวิกฤติน้ำ โดยใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา และคุณภาพน้ำ แบบ Real-Time Data Collection จากระบบโทรมาตรและ/หรือ จากการนำเข้าข้อมูลด้านอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และสะแกกรัง
โดยการพัฒนาโปรแกรม ในด้านการติดตามสถานการณ์น้ำแบบอัตโนมัติ และการนำเสนอในรูปแบบ

ของแผนที่ด้านวิกฤติน้ำในช่วงเวลาต่างๆ รวมถึงระบบการจัดทำรายงานสถานการณ์ของลุ่มเจ้าพระยา ท่าจีนและสะแกกรังสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary)

3) พัฒนา และปรับปรุงระบบฐานข้อมูลของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และสะแกกรัง
ในด้านทรัพยากรน้ำ ด้านภูมิศาสตร์ และด้านระบบการนำเสนอข้อมูลเตือนภัย สำหรับเชื่อมโยง/ถ่ายเทข้อมูลระหว่างที่ทำการส่วนภูมิภาค และส่วนกลางของกรมทรัพยากรน้ำได้อย่างรวดเร็ว มั่นคง และมีประสิทธิภาพ
โดยจะต้องมีส่วนที่สามารถนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณชน (Public Information System) ในรูปแบบของการนำเสนอผ่านเครือข่าย Internet และช่องทางอื่นที่เหมาะสมในการติดตามสภาพน้ำได้ทันต่อเหตุการณ์
และครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และสะแกกรัง

4) พัฒนาระบบช่วยตัดสินใจ (Decision Support System, DSS) สำหรับประกอบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และสะแกกรัง

5) พัฒนาระบบเชื่อมโยงด้านแบบจำลองฯ ฐานข้อมูลและอื่นๆ เข้ากับระบบตรวจวัด สภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติลุ่มน้ำเจ้าพระยา และระบบเฝ้าระวัง และเตือนภัย น้ำหลาก-ดินถล่ม (Early Warning System)
ของกรมทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และสะแกกรัง

6) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย ด้านการใช้งานระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ ด้านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ด้านอุปกรณ์ และระบบควบคุม รวมถึงด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับระบบ

7) เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และสะแกกรัง
ให้เหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ในการป้องกัน และบรรเทาปัญหาวิกฤติน้ำ

1) มีการพัฒนาโครงข่ายการตรวจวัดข้อมูลทางไกลแบบอัตโนมัติอย่างเป็นระบบ ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน และสะแกกรัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ

2) มีแบบจำลองคณิตศาสตร์ และระบบช่วยในการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ เฝ้าระวังพยากรณ์ และเตือนภัย เมื่อเกิดวิกฤติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ท่าจีน และสะแกกรัง

3) มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สามารถใช้ในการเฝ้าระวัง พยากรณ์ และเตือนภัยเมื่อเกิดวิกฤติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับลุ่มน้ำอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต

4) เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำของฝาย และเขื่อน หรืออาคารชลศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และสะแกกรังได้เหมาะสม ทันเหตุการณ์ และบรรเทาวิกฤติน้ำได้

5) มีรายงานสรุปผู้บริหารด้านวิกฤติน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และสะแกกรัง

6) ประชาชนสามารถรับรู้ ข้อมูล เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน
และลุ่มน้ำสะแกกรังได้ทันที (ผ่านระบบ Internet)

1
2
3